วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

ปลาออสการ์


ปลาออสการ์ เป็นพันธุ์พื้นเมืองของลุ่มแม่น้ำ Orinoco, อะเมซอน และ La Plata ในทวีป อเมริกาใต้ แต่เดิมพบในลำคลองแถบ ไมอามี่ และ Dade country ที่ฟลอริด้า มีการเลี้ยงในฟาร์มปลาเพื่อเป็นอาหารและกีฬา ต่อมาได้มีการนำเข้ามาเพื่อเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยกระจายอยู่ทั่วไปแถบทวีปอเมริกา แอฟริกา และเอเซีย ปลาออสการ์ (Astronotus ocellatus) เดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lobotes ocellatus ชื่อสามัญว่า Oscar, Red Belvet, Velvet Cichlid, Marbled Cichlid, Peacock-Eyed Cichilld, Tiger Oscar, Peacock Cichilld อยู่ในครอบครัว Cichlidae มีนิสัยค่อนข้างดุ โตเต็มวัยมีความยาวขนาด 12 - 14 นิ้ว ชอบกินอาหารที่มีชีวิต สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ มีผู้เคยทำการศึกษาโดยการตรวจดูอาหารที่อยู่ในท้องของปลาจากธรรมชาติพบว่ามี แมลง ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พืชน้ำ และเมล็ดพืชอื่น ๆ เป็นปลาอาศัยอยู่ได้ทั้งบนผิวน้ำ กลางน้ำและท้องน้ำ เป็นที่นิยมเลี้ยงมาก และถ้าเลี้ยงดูอย่างดีสามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็น 10 ปี ปลาออสการ์สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ 5 ชนิด ออสการ์สีพื้น ลายเสือ สีแดง สีเผือก หางยาว อาจจะพบประเภทอื่น ๆ อีก ได้แก่ เผือกตาแดง สีฟ้า (อาจจะมาจากการย้อม) และลายหินอ่อน นอกจากนั้นยังมี เผือกทอง เผือกเสือแดง หรือมีตั้งแต่สีขาว น้ำตาลจนกระทั่งสีดำ มีลายสีแถบแดงที่ด้านข้างลำตัว สีของปลาขนาดเล็กพบว่ามีสีแดงสลับกับสีดำ เมื่อโตขึ้นสีจะเปลี่ยนไปเป็นสีเทาและสีส้มแดง ส่วนครีบมีสีดำหรือทองมีรูปร่างแบนปากใหญ่ ปากล่างยาวกว่าปากบน เติบโตเร็วมาก ดังนั้นจึงต้องการตู้ขนาดใหญ่ เลี้ยงง่ายควรจะต้องมีที่กรองน้ำให้ด้วย มีนิสัยดุร้าย ดังนั้นควรที่จะเลือกปลาที่เลี้ยงในตู้เดียวกันให้มีขนาดไล่เลี่ยกันสามารถที่จะปล่อยร่วมกับปลาอื่น ๆ ได้เช่น หมอเท็กซัส หมอไฟร์เมาท์ เปกู ชอบขุดคุ้ยก้อนหิน ต้นไม้และกรวดทรายในตู้ บางครั้งทำลายอุปกรณ์ในตู้ปลาได้ ควรที่จะเลี้ยงในตู้ปลาที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้ปลาสามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ แต่เพื่อให้ง่ายในการดูแลบางครั้งมักที่จะเลี้ยงในตู้ที่ไม่ใส่ทรายหรือกรวดเลย ขณะเดียวกันอุณหภูมิไม่เหมาะสม ให้อาหารมากเกินไป คุณภาพน้ำไม่ดีก็อาจทำให้ปลาตาย
อาหาร ปลาออสการ์เป็นปลาที่กินอาหารได้ทุกอย่างและตลอดเวลาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้อาหารที่มีชีวิตอาจจะให้อาหารแช่แข็งที่ทำมาจาก ไรแดง หนอนแดง อาหารเม็ดปลาดุก ไม่ควรที่จะให้อาหารแห้งตลอดไปควรจะมีการสลับกันระหว่างอาหารสดหรืออาหารแห้ง เนื่องจากออสการ์เหมือนปลาอื่น ๆ มักจะเล่นอาหารที่กินโดยที่กินเข้าไปแล้วคายออกมาทำให้น้ำเน่าเสียได้ ดังนั้นควรที่จะให้อาหารกินพอดี ๆ จากสาเหตุนี้ทำให้จำเป็นที่จะต้องมีแผ่นกรองในตู้ปลาเพื่อกรองของเสีย และควรทำความสะอาดตู้ปลาเมื่อเห็นว่าตู้ปลาสกปรกมากแล้ว การให้อาหารที่เหมาะสมคือให้ทีละน้อยและให้กินจนหมด
การผสมพันธุ์ การแยกเพศของปลาออสการ์คล้ายกับตระกูลปลาหมอทั่วไป คือ จะแยกค่อนข้างยากโดยที่เพศผู้นั้นตามปกติจะมีสีสันมากกว่าเพศเมีย มีตัวใหญ่มากกว่า ช่องเปิดของอวัยวะเพศจะยื่นออกมาส่วนเพศเมียจะกลม เพศผู้จะมีครีบหลังใหญ่กว่าเพศเมียในขณะที่เพศเมียครีบหลังค่อนข้างกลม เนื่องจากเพศที่แยกยากนี้ทำให้การเลี้ยงปลาออสการ์ส่วนใหญ่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์มักจะปล่อยรวมกันหลาย ๆ ตัวบางครั้งอาจจะมากกว่า 6 ตัว ในบ่อที่มีขนาดใหญ่ มีการกั้นหินเป็นห้อง ๆ เพื่อที่จะให้พ่อแม่ปลาที่พร้อมจะวางไข่นั้นจับคู่กันเอง และเป็นการหลบภัยจากปลาตัวอื่นอีกด้วย ควรจะมีกระดานพาดอยู่ในรังด้วยเพื่อให้ปลาวางไข่ที่กระดาน เมื่อปลาพร้อมวางไข่ก็จะมีการสร้างรังปลาตัวอื่นที่ไม่ใช่คู่ของมันจะถูกไล่ออกไป คุณสมบัติน้ำที่เหมาะสมในช่วงฤดูผสมพันธุ์ สำหรับปลาตระกูล Cichlid ได้แก่ ปลาหมอสี ปลาปอมปาดัวร์ น้ำควรมีความเป็นกรด น้ำอ่อน ดังนั้นในช่วงนี้เมื่อรู้ว่าปลาพร้อมที่จะมีการปรับน้ำให้เหมาะสม โดยการเปลี่ยนคุณสมบัติของน้ำทีละเล็กทีละน้อย ความเป็นกรดและด่าง ควรให้ลดมาอยู่ที่ 6 - 7 ความกระด้างของน้ำควรให้ต่ำกว่า 160 พีพีเอ็ม อุณหภูมิของน้ำควรอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส

ปลาเทวดา


ปลาเทวดา จะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยและพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 8-10 เดือน การจับคู่เพื่อการผสมพันธุ์และวางไข่เริ่มขึ้นโดยตัวผู้จะว่ายเคียงคู่กับตัวเมีย ในขณะเดียวกันจะพยายามกัดตัวอื่น ๆ ให้ห่างจากคู่ของตนและสร้างอาณาเขตของตัวเองไม่ให้ตัวอื่นเข้าใกล้ อาจจะเป็นบริเวณมุมตู้มุมใดมุมหนึ่ง โดยตัวเมียจะอยู่ด้านในติดกับมุมตู้ ตัวผู้มักจะว่ายน้ำอยู่ด้านนอก ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะทำความสะอาดบริเวณที่วางไข่ โดยการอมน้ำแล้วพ่นไปในบริเวณพื้นตู้ และเก็บสิ่งสกปรกต่าง ๆ เช่น เศษใบไม้ หรือตะกอนผงต่าง ๆ ออกจากบริเวณนั้น ซึ่งเป็นสัญญาณแสดงว่าตัวเมียพร้อมที่จะวางไข่ ทำการแยกปลาทั้งคู่ออกมาจากตู้ที่เลี้ยง ใส่ในตู้เตรียมไว้สำหรับเพาะ ซึ่งโดยมากแล้วนิยมใช้ตู้ขนาดความยาว 1 ฟุตขึ้นไป ใส่น้ำที่ปราศจากคลอรีนและมีการเพิ่มปริมาณออกซิเจนโดยการใช้ปั๊มลม (air pump)ตามธรรมชาติแล้วปลาตัวเมียจะวางไข่ติดกับวัสดุต่าง ๆ ในน้ำ เช่น ก้อนหิน ตอไม้ พรรณไม้น้ำชนิดต่าง ๆ ในน้ำ เช่น ก้อนหิน ตอไม้ พรรณไม้น้ำชนิดต่าง ๆ แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในตู้กระจกแล้ว นักเพาะปลามักนิยมใช้กระจกหรือพลาสติกแผ่นเรียบวางเอียงกับพื้นตู้ประมาณ 30-60 องศา แม่ปลาจะวางไข่ติดกับกระจกแล้วตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่ทันที จะผลัดเปลี่ยนกันเช่นนี้จนแม่ปลาวางไข่หมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ในแต่ละครั้งของการวางไข่ แม่ปลาจะวางไข่ประมาณ 300-2,000 ฟอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแม่ปลา
รูปร่างลักษณะ ปลาเทวดา เป็นปลาแบนข้าง ลำตัวกว้างลึก ครีบหลังเป็นกระโดงสูงอยู่ค่อนไปทางด้านหาง ครีบด้านท้องก็ทำนองเดียวกัน ครีบหางแบนเป็นแพนใหญ่ รูปทรงเป็นสามเหลี่ยมมุมฉากริมฝีปากค่อนข้างเล็กดวงตากลมโต ปลาเทวดามีหลายสี ตามสายพันธุ์แตกต่างกันออกไป เช่น เทวดาดำ เทวดาหินอ่อน เทวดาขาว เป็นต้น
อุปนิสัย ปลาเทวดา เป็นปลาที่แปลก บางครั้งก็เป็นปลารักสงบ ชอบอยู่นิ่ง ๆ ไม่ตื่นตกใจง่าย แต่ในทางตรงกันข้าม บางครั้ง ปลาเทวดา ก็มีนิสัยก้าวร้าว หวาดระแวงขี้ตื่นตกใจ ปลาเทวดา บางตัวเลี้ยงให้คุ้นเคยได้ง่าย แต่บางตัวคุ้นเคยยาก ไม่ยอมกินอาหารและเป็นปลาที่ค่อนข้างใจเสาะ เสียชีวิตง่าย ถ้าการดูแลเอาใจใส่ไม่ดี ถ้าน้ำในตู้เสียและผิดปกติไป ปลาเทวดา ก็จะแสดงอาการไม่ปกติทันที
การเลี้ยงดู โดยทั่วไป ปลาเทวดา เป็นปลารักสงบ พอจะปล่อยเลี้ยงรวมกันหลาย ๆ ตัวได้ในตู้กระจกที่กว้างขวางพอ และมีพันธุ์ไม้เป็นที่หลบอาศัยบ้าง ปลาเทวดา เมื่อจับคู่กัน แม่จะวางไข่ติดกับวัสดุในน้ำ เช่น ใบไม้ รากไม้ หรือแผ่นหิน สำหรับอาหารที่ให้ได้แก่ ไรน้ำ ลูกน้ำ เนื้อกุ้งสับ และอาหารเม็ดสำเร็จรูป เป็นต้น

ปลาหางนกยูง


ปลาหางนกยูง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Poecilia reticulata Peters 1859 มีชื่อสามัญว่า Guppy อยู่ในครอบครัว Poecidae เป็นปลาอออกลูกเป็นตัว และมีถิ่นกำเนิดทางทวีปอเมริกาใต้แถบเวเนซูเอลล่า หมู่เกาะคาริเบียนของประเทศบาร์บาโดสและในแถบลุ่มน้ำอเมซอน ในธรรมชาติอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อยที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งจนถึงน้ำไหลเรื่อยๆ ปลาตัวผู้มีขนาด 3 -5 เซนติเมตร ตัวเมียมีขนาด
5 -7 เซนติเมตร ปลาหางนกยูงที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม(Fancyguppies) ซึ่งเป็นปลาที่ได้รับการคัดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์มาจากพันธุ์พื้นเมือง ( Wild guppies) ที่พบแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติ ลักษณะเด่นที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ คือ ลักษณะสีและลวดลายบนลำตัวและลวดลายบนครีบหางและรูปแบบของครีบหาง ซึ่งในการเรียกสายพันธุ์ต่างๆ จะถูกตั้งชื่อตามลักษณะ
การเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง ในการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง นอกเหนือจากวิธีการเพาะพันธุ์แล้ว วิธีการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์และการอนุบาลลูกปลานับว่าเป็นปัจจัยที่ล้วนแต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ซึ่งได้กล่าวถึงปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ คือ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูง เนื่องจากปลาหางนกยูงจะเจริญถึงวัยเจริญพันธุ์ เมื่อปลามีอายุเพียง 3 เดือนเท่านั้น เมื่อลูกปลาพอที่จะแยกเพศได้ (อายุประมาณ1- 1 1/2 เดือน ) ควรเลี้ยงแยกเพศไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาผสมพันธุ์กันเอง
อาหารที่ใช้เลี้ยง ปลาหางนกยูงสามารถกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ (Omnivorous) ในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จึงสามารถให้อาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็กเช่น ลูกน้ำ ไรแดง (Moina) ไรสีน้ำตาล (Artemaia) หรือหนอนแดง(Chironomus) หรืออาจจะเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป ที่มีปริมาณโปรตีนไม่ต่ำกว่า 40%อาหารสดก่อนให้ทุกครั้งควรฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหาร โดยควรแช่อาหารในด่างทับทิมเข้มข้น 500 - 1,000 ส่วนในล้านส่วน (0.5 - 1.0 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ) เป็นเวลาประมาณ 10 –20 วินาที ปริมาณอาหารสด ควรให้ 10% ของน้ำหนักตัวหรือให้กินแต่พออิ่ม ส่วนอาหารแห้ง ควรให้วันละ 2 - 4 % ของน้ำหนักตัวปลาโดยให้อาหารวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและตอนเย็น ส่วนการถ่ายเทน้ำควรจะทำทุกวัน โดยดูดน้ำในตู้ออกวันละประมาณ ? ของปริมาณน้ำในตู้ แล้วเติมน้ำให้เท่าระดับเท่าเดิม